Joomla ServiceBest Web HostingWeb Hosting
Home ผลงานของเรา

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : 0-2621-8531

ที่ปรึกษาด้านอนุรักษ์พลังงาน
ตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน(Energy Audit)
ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ได้ให้บริการในการตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้พลังงานแก่โรงงานมากกว่า 1,500 แห่ง และได้ให้บริการในการตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้พลังงานแก่อาคารมากกว่า 800 แห่ง มีทีมวิเคราะห์การใช้พลังงาน ประกอบด้วยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและความร้อน ให้บริการตรวจสอบหาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุปกรณ์เครื่องจักรใช้พลังงานไฟฟ้า และพลังงานความร้อนต่างๆ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานในระบบต่างๆ จัดทำรายงานข้อเสนอแนะ ตลอดจนการให้คำปรึกษาในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อไอน้ำ (Boiler Tuning)
หม้อไอน้ำ หม้อน้ำมันร้อน คือแหล่งกำเนิดพลังงานความร้อน การควบคุมเครื่องจักรดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำได้โดยการสันดาปให้มีการใช้อากาศส่วนเกินในปริมาณน้อยที่สุด โดยมีขั้นตอนหลักๆ ในการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของหม้อไอน้ำ ดังนี้
  • ตรวจสอบสภาพการทำงานของหม้อไอน้ำ , safety devices, header, steam lines, steam trap ฯลฯ
  • ตรวจสอบคุณภาพด้าน PH, Conductivity , IDA ฯลฯ ของ boiler feed water และ blow down water
  • ตรวจและวิเคราะห์ประสิทธิภาพการเผาไหม้และปรับปรุงหัวเผาเพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์
  • กำหนดมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพของเตาเผาหม้อไอน้ำและระบบไอน้ำ
  • ดำเนินปรับปรุงประสิทธิภาพเตาเผาหม้อไอน้ำ

จัดโหลดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ (Load Management)
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับโหลดและระยะเวลาการใช้งานหรือเวลาทำงาน และค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดการโหลด โดยในส่วนของค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดนี้ เราสามารถควบคุมให้ลดลงได้ ถ้ามีการจัดการโหลดไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยมีขั้นตอนหลักๆ ในการวิเคราะห์การจัดโหลดไฟฟ้า ดังนี้
  • ตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 1 ปี
  • ใช้เครื่องตรวจวัดค่าการใช้ไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบ Load Profile เพื่อดูการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดหรือแบ่งกลุ่มโหลดที่มีความสำคัญมาก สำคัญลำดับรองลงมา จนถึงโหลดที่มีความสำคัญอันดับท้ายๆ ที่มีผลกระทบต่อการผลิตน้อยที่สุดหรือไม่มีผลกระทบหากมีความจำเป็นต่อการหยุดในช่วงเวลา
  • การควบคุมโดยการตัดโหลดการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความสำคัญน้อยที่สุดและไม่มีผลต่อการผลิต เช่น โหลดที่ทำงานเป็นช่วงๆ โหลดเครื่องปรับอากาศ โหลดปั๊มน้ำ ฯลฯ เพื่อควบคุมความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเวลานั้น

ระบบแสงสว่าง (Lighting Retrofit)
ระบบแสงสว่างต้องได้รับการออกแบบและติดตั้ง เพื่อให้การประกอบกิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปของการมองเห็นมีความปลอดภัยและน่ารื่นรมย์ วิธีการให้แสงสว่างที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญของการออกแบบระบบแสงสว่างซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ
1. การให้แสงสว่างแบบมีความสว่างเกือบเท่ากันตลอดพื้นที่ เป็นการให้ความสว่างจากโคมไฟแสงสว่างที่ติดตั้งกระจายอย่างสม่ำเสมอตลอดพื้นที่เพดาน
2. การให้แสงสว่างเฉพาะที่ โดยอาศัยหลักการที่แต่ละพื้นที่ต้องการความสว่างไม่เท่ากันแล้วแต่ประเภทของกิจกรรม
3. การให้แสงสว่างเฉพาะตำแหน่ง เป็นการให้แสงสว่างเสริมสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดสูง

แนวทางการประหยัดพลังงานของระบบแสงสว่าง

  • เลือกใช้หลอดไฟประสิทธิภาพสูง คือให้ปริมาณแสงสว่างมากแต่ใช้กำลังไฟฟ้าต่ำ
  • ติดตั้งวงจรควบคุมแสงสว่างเพิ่มขึ้นจะทำให้สามารถปิด - เปิดวงจรไฟฟ้าแสงสว่างในแต่ละพื้นที่ได้สะดวก หรือการแบ่งเป็นโซน
  • ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้มีการใช้พลังงานในระบบแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ
  • โคมไฟทุกชนิดควรมีแผ่นสะท้อนแสงที่ดีมีผิวสะอาด มันเป็นเงาและต้องมีมุมสะท้อนที่ถูกต้อง
  • ใช้ระบบไมโครคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบแสงสว่างในอาคารจะสามารถประหยัดพลังงานได้ หรือการใช้ sensor ควบคุมการปิด-เปิดเมื่อต้องการใช้แสงธรรมชาติ

ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องอัดอากาศ (Air Compressor Improvement)
เครื่องอัดอากาศเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลายประเภท เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดและจ่ายอากาศอัดให้แก่อุปกรณ์และเครื่องมือนานาชนิด ตั้งแต่ที่มีขนาดเล็กไปจนถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้คิดเป็น 10% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดของโรงงาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้อากาศอัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่ไม่จำเป็น โดยมีขั้นตอนหลักๆ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องอัดอากาศ ดังนี้
  • ดำเนินการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานของเครื่องอัดอากาศ
  • ศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องอัดอากาศ
  • ตรวจสอบการรั่วไหลของระบบอัดอากาศ
  • กำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ การลดแรงดันเครื่องอัดอากาศ, การลดอุณหภูมิอากาศก่อนเข้าเครื่องอัดอากาศ, การจัดโหลดของเครื่องอัดอากาศ, การปรับปรุงระบบท่อส่งจ่ายอากาศอัด, การลดพฤติกรรมการใช้อากาศอัดที่ไม่เหมาะสม, การเลือกใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ฯลฯ

เตาเผาเซรามิคประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Ceramic Fiber Kiln)
ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย มีบริการตรวจวัดและปรับปรุงประสิทธิภาพเตาเผาเซรามิค เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน
เตาเผาเซรามิคประสิทธิภาพสูง เป็นเตาที่บุฉนวนภายในตัวด้วยเซรามิคไฟเบอร์ ซึ่งมีน้ำหนักเบา ไม่อมความร้อน จึงประหยัดการใช้เชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซ LPG ได้มากกว่าเตาอิฐทนไฟได้ถึง 50% และยังใช้เวลาเผาน้อยกว่าคือ เพียง 8 ชั่วโมง และสามารถเผาสูงถึงอุณหภูมิ 1300 oC (ในขณะที่เตาเผาอิฐใช้เวลานานถึง 12 ชั่วโมง ความสามารถในการเผาที่ 1000 – 1200 oC ) และราคาการก่อสร้างถูกกว่าเตาเผาสำเร็จรูปชนิดเดียวกันกับที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าว เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย และ Deutsche Geselischaft fur Technische Zusammenarbeit (GTZ) ประเทศเยอรมัน
OTTV / RTTV
การคำนวณหาค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคาร ( OTTV )

ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคาร ( Overall Thermal Transfer Value, OTTV ) หมายถึงดัชนีในการแสดงปริมาณความร้อนเฉลี่ยที่เข้าสู่พื้นที่ปรับอากาศ เพื่อใช้ประเมินสมรรถนะของกรอบอาคารต่อการถ่ายเทความร้อน
ในการคำนวณหาค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคาร จะเริ่มต้นโดยการคำนวณหาค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกแต่ละด้าน (OTTVi) ก่อน จากนั้นจึงนำค่าที่ได้ของผนังแต่ละด้านมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัตามขนาดพื้นที่ของผนังด้านนอกแต่ละด้านรวมกันเพื่อให้ได้ค่า OTTV ตามที่กำหนด

ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคา ( RTTV )

การถ่ายเทความร้อนรวมผ่านหลังคาอาคาร ( Roof Thermal Transfer Value, RTTV ) หมายถึงดัชนีในการแสดงปริมาณความร้อนเฉลี่ยที่เข้าสู่พื้นที่ปรับอากาศ เพื่อใช้ประเมินสมรรถนะของหลังคาอาคารต่อการถ่ายเทความร้อน
สำหรับการกำหนดค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร เริ่มต้นด้วยการคำนวณหาค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคารแต่ละส่วน (RTTVi) ก่อน จากนั้นจึงนำค่าที่ได้มาคำนวณหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเพื่อให้ได้ค่า RTTV ตามที่กำหนด